ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค ) สวทช. ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท. ) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เครือเบทาโกรและสมาคมไทยไอโอที จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี พ.ศ.2565 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2022 (NECTEC–ACE 2022) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” เพื่อจัดแสดงผลงานและสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเกษตรยั่งยืน (Digital Technology for Sustainable Agriculture) เมื่อเร็วๆนี้ ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี พร้อมจัดรูปแบบสัมมนาออนไลน์ควบคู่กัน
วันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี พ.ศ.2565 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2022 (NECTEC–ACE 2022) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” จากภาครัฐและภาคเอกชน เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล วิทยาศาสตร์องค์ความรู้ที่ทันสมัยเพื่อนำไปปรับใช้ทำการเกษตรช่วยให้การทำการเกษตรได้ผลผลิตมากขึ้น เช่น ช่วยแจ้งการตัดสินใจเกี่ยวกับการชลประทาน การจัดการศัตรูพืช การใช้ปุ๋ย ทำการเกษตรแบบอัจฉริยะ รวมทั้งการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ จะสามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพผลผลิตต่อแรงงานและต่อพื้นที่ที่มีจำกัดได้
“เนคเทคหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 15 จะเป็นแรงบันดาลใจแก่ภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องและเข้าร่วมนำองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งข้อมูลทางการเกษตรที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเกษตรรูปแบบใหม่ๆไปปรับใช้ ช่วยลดเวลา ช่วยให้ผลลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นและที่สำคัญผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดการค้าเพิ่มช่องทางในการขายผลิตผลเกษตร และเพิ่มอำนาจต่อรองราคาให้แก่เกษตรกรได้” วันชัย กล่าว
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า การจัดงาน NECTEC–ACE 2022 ได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน เพื่อร่วมกันถ่ายทอดองค์คงามรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การทำการเกษตร การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในการทำการเกษตรแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เสมือนกับการเป็นสาธารณูปโภคที่ส่งให้ประชาชนทุกคนในบ้าน เพื่อช่วยให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยแต่ละปีมีโครงการวิจัยพัฒนาที่ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ไม่ต่ำกว่า 200 โครงการ คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะมีผู้สนใจเข้าชมงานในรูปแบบสัมมนาออนไลน์และสถานที่จัดงานจริงที่อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ประมาณ 2,000-3,000 คน
ชูกิจกรรมพิเศษเปิดบ้านให้เยี่ยมชมตัวอย่างแปลงเกษตรสาธิตที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
งาน NECTEC-ACE จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” โดยมุ่งเน้นด้าน “Digital Technology for Sustainable Agricuture” โดยเนคเทคร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมพัฒนาที่ดิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน พร้อมด้วยพันธมิตรผู้สนับสนุน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด, สมาคมไทยไอโอที และเครือเบทาโกร จัดขึ้น ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
โดยมีรูปแบบจัดนิทรรศการ 6 โซนนิทรรศการผลงานวิจัย จากภาครัฐและเอกชน เพื่อแสดงศักยภาพ และเทคโนโลยีพร้อมใช้ ช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยสู่เกษตร 4.0 และอีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษในปีนี้ กับ Open House เปิดบ้าน ให้เยี่ยมชมตัวอย่างแปลงเกษตรสาธิตที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการดำเนินงานจริง ในพื้นที่สวทช. และบริเวณใกล้เคียงกับ 4 สถานีเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ Plant Factory: โรงงานปลูกพืชระบบปิด โดย BIOTEC สวทช., AGRITEC: สวนเกษตรอัจฉริยะ โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช., NECTEC Smart Garden: ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ โดย เนคเทค สวทช. และสวนเกษตรในเมือง: อาคารเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
พร้อมกันนี้มีการจัดในรูปแบบสัมมนาออนไลน์ จำนวน 11 หัวข้อ จากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักวิชาการ กว่า 30 ท่าน ที่จะมาร่วมนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเกษตรยั่งยืน เพื่อให้แก่กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ทั้งผู้บริหารองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการเกษตร ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชน นักวิจัย นักวิชาการ เกษตรกร นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจด้านเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ซึ่งเนคเทคได้ให้ความสำคัญ มีความพยายามพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเนคเทคไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสนับสนุนส่งเสริมภาคเกษตรกรรมภายในประเทศมาร่วมเป็นพลังขับเคลื่อน
ดิน อัจฉริยะ :แม่น & Mach
เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่ศึกษา สำรวจ วิเคราะห์และวิจัยดินและที่ดินเพื่อกำหนดนโยบาย และวางแผนการใช้ที่ดิน และเพื่อการพัฒนาที่ดิน ให้บริการด้านการวิเคราะห์ ตรวจสอบและให้คำแนะนำเกี่ยวกับดิน น้ำ พืช ปุ๋ย และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน ถ่ายทอดผลการศึกษา ค้นคว่า วิจัย และให้บริการด้านการพัฒนาที่ดินแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและเกษตรกร และปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินหรือที่กระทรวง หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งที่ดินในประเทศไทยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การพัฒนาพื้นที่ดินจำเป็นต้องใช้ข้อมูลหลายๆส่วนมาประกอบการพัฒนาเพื่อให้พื้นที่ดินนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ที่เป็นเจ้าของที่ดินประกอบอาชีพการเกษตร สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรต้องอาศัยเทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าสู่การทำเกษตรสู่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตในทุก ๆ ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน เมล็ดพันธ์เพาะปลูก การปลูก การเก็บเกี่ยว เรียกได้ว่าเป็นการสร้างระบบฟาร์มอัจฉริยะที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและมีความแม่นยำสูงเพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสในการทำการเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตมากขึ้น
นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดินจะเติมเต็มในส่วนความเป็นอัจฉริยะทางดิน เพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการดินที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ พัฒนาที่ดินด้วยระบบการบริหารจัดการเชิงรุก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมด้านการวางแผน ถ่ายทอดเทคโนโลยี อนุรักษ์ดินและน้ำ และปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งแก้ปัญหาที่ดินทุกๆปัญหาภายในกรมพัฒนาที่ดินส่งผ่านสู่เกษตรกรและพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนบูรณาการทำงานดูแลพื้นที่ดินพัฒนาที่ดินให้มีข้อมูลที่แม่นยำในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้เกษตรกรในทุกๆพื้นที่สามารถเข้าศึกษาข้อมูลที่ดินผ่านระบบดิจิทัล สร้างข้อมูลที่จูงใจให้เกษตรกรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงเชื่อว่าเมื่อเกษตรกรเข้ามาใช้งานแล้วเกิดประโยชน์จริง ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดระยะเวลาการผลิตและสร้างผลผลิตที่ได้ราคาตลาดต้องการแล้วเกษตรกรก็จะกลับมาใช้ฐานข้อมูลเรื่องดินและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตร พร้อมขยายผลจากเกษตรกรสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป
ส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมการเกษตรดิจิทัล สร้างงาน อาชีพและคุณภาพที่ดีของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ปาลลิน พิวงมี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า กระแสของการทำการเกษตรเพื่อรักษ์โลกเป็นสิ่งที่ทั่วโลกตื่นตัวและกันมาร่วมกันใส่ใจอย่างยิ่ง ซึ่งการทำการเกษตรที่ใส่ใจรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ต้องอาศัยข้อมูลวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆและบุคลากรที่จะมาถ่ายถอดแก่ภาคการเกษตรให้รับรู้ เข้าถึงและเข้าใจ เพื่อนำกลับไปใช้แล้วแก้ปัญหาเกิดประโยชน์ที่แม่นยำอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคการเกษตรขณะนี้อยู่ในช่วงอายุวัย 50-60 ปี ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจึงจำเป็นต้องหากระบวนวิธีการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลให้ได้มากที่สุด ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งเกษตรอำเภอ เกษตรตำบลที่มีในสังกัดกว่า 10,000 คน ไปพร้อมๆกับเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน เมื่อมีปัญหาก็จะได้หาทางแก้ไขปัญหาได้ทันที เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันตลาดเกษตรกรออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย ทั้งสินค้าการเกษตรสดและแปรรูป รวมทั้งเกษตรกรจะได้เจอพูดคุยผู้บริโภคตัวจริงด้วยโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรแบบปกติในตลาดทั่วไปได้เพราะข้อจำกัดการป้องกัน COVID-19 ตลาดเกษตรออนไลน์จึงเป็นทางออกในการช่วยเกษตรกรจำหน่ายสินค้าในช่วงนั้น COVID-19 สร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย อีกการพัฒนาคือการพัฒนาข้อมูลทางดิจิทัลของกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อเก็บข้อมูลการขึ้นทะเบียนของเกษตรกรในทุกๆภาคการเกษตร เพื่อนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่ได้มาวางแผนช่วยเหลือเกษตรกรในการทำการผลิต ส่งเสริมการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด การวางระบบชลประทานจัดหาแหล่งน้ำในช่วงวิกฤตและพัฒนาระบบบริการให้เกษตรกรเข้าถึงเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่มีในทุกๆภูมิภาค มีการส่งเสริมในหลายพื้นที่ เช่น มีการสาธิตการใช้โดรนพ่นสารเคมี พ่นน้ำ ใส่ปุ๋ย และทำ Agri-Map ซึ่งเป็นแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรให้เจ้าหน้าที่เกษตรกรเข้าไปใช้งานนำไปใช้ช่วยเหลือเกษตรกรในทุกๆพื้นที่อย่างเหมาะสม
ยกระดับการใช้นวัตกรรมการเกษตร ด้วย Agri-FinTech เพื่อเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคการเกษตร
ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากธ.ก.ส.จะช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรแล้ว ยังดำเนินงานมุ่งยกระดับการใช้นวัตกรรมทางการเกษตร พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานการทำงานเกษตร เพื่อนำเทคโนโลยีงานวิจัยที่ได้มาใช้ในภาคการเกษตร พร้อมมุ่งหาทายาททางการเกษตรและคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทางการเกษตรเข้าสู่ภาคการเกษตรให้มากขึ้น เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพผลิตเมล่อนด้วยโรงเรือนอัจฉริยะ ด้วยการใช้นวัตกรรมโรงเรือนอัจฉริยะ ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนแคตาลูป ตำบลดินแดง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเดิมปลูกในระบบปลูกทั่วไป แต่เมื่อ ธ.ก.ส. เข้าไปสนับสนุนเงินทุนในการสร้างโรงเรือนอัจฉริยะช่วยให้การปลูกในระบบปิดมีผลผลิตที่มีประสิทธิภาพขายได้ราคาที่สูงขึ้นเป็นที่ต้องการของตลาด, โครงการคนหาทายาทเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ ในฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ที่ จังหวัดสงขลา โดยการนำระบบ Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ Platform เข้ามาช่วยในการติดตามผลการทำฟาร์มแก่เกษตรกรตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งเรื่องการให้น้ำ ให้ยา ให้อาหารและควบคุมแสงสว่างอัตโนมัติ พบว่าผลผลิตมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ได้คุณภาพตามความต้องการของท้องตลาดและได้รับการส่งเสริมเป็นศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมให้กับเกษตรกรรายอื่นๆและ The Fignature Garden สวนที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เป็นการทำการเกษตรแบบโรงเรือนที่ทันสมัยของคนรุ่นใหม่โดยใช้เทคโนโลยี ด้วยการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ เช่น การควบคุมน้ำ ควบคุมปริมาณ ดูแลเรื่องโรคพืชและศัตรูพืชที่จะมารบกวนผลผลิตและดูแลสภาพดิน เป็นต้น
“การที่ ธ.ก.ส. ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทางด้านการเงินให้เกษตรกรไทยมีความมั่นคงทางการเงินเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการทำการเกษตรและพร้อมร่วมมือทำการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือ ครอบครัวของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ธนารัตน์ กล่าว
AIS iFarm นวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัล 5G และ IoT เพื่อพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน
กรรณิกา ตันติการุณย์ Head of 5G Product & Ecosystem บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า iFarm ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรที่ทำการเกษตรต้องเจอปัญหาการทำการเกษตรว่าพื้นที่ของตนเองควรปลูกพืชนิดไหนดีถึงจะได้ประโยชน์คุ้มกับเงินที่ลงทุน พืชที่ปลูกทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว และการค้นหาเส้นทางการขนส่งสู่ตลาดขายพืชผลทางการเกษตร จึงเป็นที่มาของการสร้างแพลตฟอร์ม iFarm โดยการพัฒนาพอร์ตฟอร์มดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มกลางบน Cloud เพื่อทำการรวบรวมข้อมูล, วิเคราะห์ และสั่งการอุปกรณ์ IoT ได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกษตรกรที่ต้องการปรับให้พื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรกลายเป็น Smart Farming นั้นสามารถทำได้โดยการติดตั้ง Sensor และตั้งค่าเบื้องต้นเท่านั้น โดยไม่ต้องมีการพัฒนาโปรแกรมใดๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้งาน และลดเวลาที่เหล่าเกษตรกรต้องใช้เรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีลง มุ่งเน้นต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงการเพาะปลูกให้ดีที่สุดเป็นหลัก
โดยข้อมูลและการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ทั้งหมดจะถูกนำมารวบรวมให้เข้าถึงและใช้งานได้ผ่านระบบ AIS iFarm ที่อยู่บน Cloud โดยมีความสามารถด้วยกัน 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.Dashboard หน้าจอแสดงผลภาพรวมข้อมูลการเพาะปลูก สามารถแสดงข้อมูลจากไร่สวนหลายแห่งร่วมกันได้ และสามารถเจาะลึกข้อมูลในแต่ละส่วนได้อย่างง่ายดาย 2.Automation ระบบควบคุม Smart Control ให้ทำงานต่างๆ โดยอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมติดตามการทำงานที่เกิดขึ้นของเครื่องจักรอัตโนมัติเหล่านี้ และ 3 Data Visualization ระบบวิเคราะห์แสดงผลข้อมูลเชิงลึกสำหรับเจาะลึกข้อมูลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไร่สวนแต่ละแห่ง โดยแสดงสถานะของการเพาะปลูกในแต่ละไร่จากการวัดค่าส่วนต่างๆ มาตัดเป็นเกณฑ์และให้คะแนน เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปวิเคราะห์และปรับปรุง ด้วยหน้าจอบริหารจัดการเหล่านี้ เกษตรกรจึงสามารถติดตามสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไร่สวนทุกๆ แห่งได้จากหน้าจอเดียวในทุกที่ทุกเวลา เกิดเป็นภาพของการทำ Remote Farming ที่มีการบริหารจัดการฟาร์มจากระยะไกลได้ อีกทั้งยังรองรับการเกษตรแบบผสมผสานที่มีการเพาะปลูกพืชหลายชนิดในแต่ละพื้นที่ ช่วยให้การบริหารจัดการการเพาะปลูกเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับความสามารถของระบบบริหารจัดการของ iFarm นี้ใช้งานได้ทั้งการเพาะปลูกพืชสวนครัวในบ้าน, การจัดการแปลงขนาดเล็ก, การจัดการแปลงขนาดใหญ่, การจัดการโรงเรือนอัจฉริยะ ไปจนถึงการเลี้ยงปลาอัจฉริยะ โดยหนึ่งในความสามารถที่ถูกออกแบบเอาไว้บน AIS iFarm ก็คือการกำหนดระดับสิทธิ์ของผู้ใช้งานให้แตกต่างกันได้เป็นลำดับชั้น เกษตรกรจึงสามารถรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ โดยเกษตรกรแต่ละรายก็สามารถเข้ามาใช้งานระบบ iFarm เข้าถึงและจัดการข้อมูลได้เฉพาะในส่วนของไร่สวนของเกษตรกรเอง ในขณะที่ผู้ดูแลสหกรณ์ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของไร่สวนทุกๆ แห่งที่เป็นของสมาชิกเพื่อช่วยติดตามและดูแลในภาพรวมได้ ทำให้ข้อมูล, ขั้นตอน, กระบวนการต่างๆ ในการควบคุมคุณภาพของการเพาะปลูกมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และง่ายต่อการติดตาม
ทั้งนี้ AIS ได้นำเสนอการใช้งานแก่เกษตรกรใน 2 แพกเกจ ได้แก่ Smart iFarm เชื่อมต่อการทำงานได้ 5 อุปกรณ์ และ Business iFarm เชื่อมต่ออุปกรณ์การทำงานได้ 10 อุปกรณ์ โดยทั้ง 2 แพกเกจนี้ มีการแถม 4G IoT SIM สำหรับเชื่อมต่อ Smart Sensor & Controller เพื่อรับส่งข้อมูลได้อย่างไม่จำกัดตลอดระยะเวลา 1 ปี
Farmnovation คูโบต้าฟาร์ม นวัตกรรมฟาร์มสู่ความยั่งยืน
รัชกฤต สงวนชีวิน Business Value Creation Division Manager บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภาคการเกษตรมากว่า 45 ปี ทำให้ใกล้ชิดกับการทำการเกษตรในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไปพร้อมๆ กับการคิดค้นผลิตภัณฑ์เครื่องจักรของบริษัทเพื่อตอบโจทย์การทำการเกษตรของเกษตรกรที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังต้องการใช้งานเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุน ลดระยะเวลา เพิ่มผลผลิตและมีความต้องการในการใช้โซลูชันเทคโนโลยี แพลตฟอร์มที่จำเป็นเข้ามาประยุกต์ใช้เครื่องจักรมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียทางการเกษตร ได้ผลผลิตที่ตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มต้องการมากขึ้น และที่สำคัญสามารถกทำการเกษตรหลายๆชนิดในพื้นที่การเกษตรเดียวกันได้ โดยดินไม่สูญเสียแร่ธาตุไป
บริษัทฯ ได้นำโซลูชันเทคโนโลยีผสมผสานองค์ความรู้ทางวิศวกรรมเข้ามาสร้างฟาร์มดีไซน์เป็นฟาร์มจำลองก่อนนำไปแนะนำต่อยอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร รวมทั้งประสานความร่วมมือทำงานกับภาคส่วนราชการและเอกชนในการร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีการทำการเกษตรที่มีความแม่นยำ สะดวก ปลอดภัย สร้างรายได้ ลดการสูญเสีย ผลผลิตได้ราคาที่ดีขึ้น และเพื่อให้การทำการเกษตรถ่ายทอดสู่เกษตรกรเป็นรูปธรรมและเห็นการทำการเกษตรของจริง
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้สร้างคูโบต้าฟาร์มบนพื้นที่ 220 ไร่ ที่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ใช้นวัตกรรมด้านการเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรได้รับประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้จากพื้นที่จริง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้ผลผลิตได้ตามเป้าหมายด้วยการทำเกษตรแม่นยำ สามารถคาดการณ์ผลผลิตและคุณภาพ ด้วยการใช้เทคนิคการเพาะปลูกผสานเทคโนโลยี IoT และนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าด้วยกัน จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนและออกแบบการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งช่วยลดแรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ เพื่อลดทรัพยากรในการผลิต ลดต้นทุน และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยภายในคูโบต้าฟาร์ม มีกิจกรรม 4 ฐานการทำการเกษตรสาธิตไว้ให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม ประกอบด้วย Smart Tech ทดลองใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่, Smart Design ออกแบบการบริหารจัดการฟาร์มแบบครบวงจร, Smart Farmer เรียนรู้การจัดการแปลงผักตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่รายได้สูง และ Smart Drive ทดลองขับเทคโนโลยีนวัตกรรม ตอบโจทย์การทำเกษตรได้ง่ายขึ้นยกระดับการทำเกษตรกรรมให้เป็นเกษตรแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ด้วยเกษตรวิถีใหม่ที่ให้ผลลัพธ์คุ้มค่าทุกตารางเมตรด้วยข้อมูลรอบด้าน ช่วยให้การทำการเกษตรได้ผลคุ้มค่า