นูทานิคซ์พัฒนาโซลูชัน Nutanix Era จัดการฐานข้อมูลง่ายดาย ปลดล็อกขุมทรัพย์ขององค์กร สร้างโอกาสทางธุรกิจ

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ (ประเทศไทย)  กล่าวว่าในปี 2020 ทั้ง Gartner  และ Forrester ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ให้นูทานิคซ์เป็นผู้นำด้าน Technology Infrastructure  ด้วยโซลูชัน Hyper Converge Infrastructure (HCI) สอดคล้องกับจากรายงาน IDC ล่าสุด ระบุว่านูทานิคซ์เป็นผู้นำ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลก 25%เป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับสอง ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด 15%

ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ได้กระทบต่อการทำงาน ทำให้รูปแบบการทำงานไม่เหมือนเดิม เป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การติดต่อกับลูกค้าต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และธุรกิจจะต้องหาความยืดหยุ่น (Agility) เนื่องจาก COVID-19 กระทบต่อความไม่แน่นอนของธุรกิจ หลายองค์กรได้วิเคราะห์ Worse Case Scenario จากเดิมปีต่อปีเป็นไตรมาสต่อไตรมาส หรือสัปดาห์ต่อสัปดาห์ องค์กรต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่นมากขึ้น หากองค์กรใดไม่มีเทคโนโลยี อาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักได้

ทวิพงศ์  กล่าวว่า เทคโนโลยี Cloud จึงเข้ามาตอบโจทย์ความท้าทายทั้งการทำงานในอนาคตและความยืดหยุ่น  (Agility) ด้วยคุณลักษณะของ Cloud ทำให้การทำงานรวดเร็ว ติดตั้งและใช้งานง่ายเหมือนใช้สมาร์ทโฟน จ่ายตามการใช้งานจริงและทันสมัย ซึ่งเทคโนโลยี Cloud มีทั้ง Private Cloud, Public Cloud  และ Hybrid Cloud

จากการสำรวจผู้บริหารพบว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า Hybrid Cloud  เป็นรูปแบบที่เหมาะสมในการทำธุรกิจในอนาคต เนื่องจาก Public Cloud มีข้อจำกัดในการใช้งาน หากต้องการคุยหรือลงงานบางอย่างของ Public Cloud มาใช้ Private Cloud  ซึ่งสร้างบนพื้นฐานไม่เหมือนกัน ทำให้การโอนถ่ายข้อมูลเป็นเรื่องยาก

“นับเป็นความท้าทายที่จะให้ Private Cloud และ Public  Cloud ใช้งานร่วมกันได้และคุยกันได้ ผู้บริหารมองว่าจะต้องเป็นโมเดลแบบนี้ในอนาคต การใช้งานไอทีแบบเดิมที่เป็น On-premise สามารถ Deploy โดยนำ Hyper Converge Infrastructure (HCI)  มาใช้ ซึ่งนูทานิคซ์เป็นผู้นำตลาดในขณะนี้และมองเห็นโอกาสในการเติบโต ทั้งนี้โซลูชันของนูทานิคซ์สามารถพัฒนาให้ลูกค้าพัฒนาเป็น Hybrid  Cloud ได้”  ทวิพงศ์ กล่าว

ทวิพงศ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ Nutanix HCI เปรียบเหมือนสมาร์ทโฟนใน Data Center รองรับแบรนด์ใดก็ได้ โดยมีซอฟต์แวร์ควบคุมให้ฮาร์ดแวร์ทำงานให้ลูกค้า และสามารถ  Run บนแอปพลิเคชันได้

ด้านสุรักษ์ ธรรมรักษ์ วิศวกรระบบ นูทานิคซ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การนำข้อมูล (Data) ของบริษัทมาใช้ ทำให้เกิดมูลค่ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น โดยข้อมูลมีความสำคัญแซงหน้าแอปพลิเคชันต่าง ๆ และจะกลายเป็นปัจจัยหลักที่องค์กรให้ความสำคัญ กลายเป็นทรัพย์สินใหม่ที่มีมูลค่า ซึ่งจะต้องได้รับการปกป้อง ใช้ให้เป็นประโยชน์ และใช้อย่างเหมาะสม

องค์กรส่วนใหญ่กำลังใช้งานฐานข้อมูลสำคัญทางธุรกิจบนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม ซึ่งก่อให้เกิดความซับซ้อนและความท้าทายด้านฐานข้อมูลหลายประการ ผู้นำด้านไอทีในปัจจุบันพยายามบริหารจัดการความซับซ้อนที่ไม่มีวันหมดสิ้นที่เกิดอยู่ในฐานข้อมูลทั้งหมดขององค์กร ความซับซ้อนนี้ทำให้ธุรกิจประสบความยุ่งยากในการบุกตลาดใหม่ ๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ทันสมัย และการรับมือกับความคิดริเริ่มเชิงกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลต่าง ๆ

จุดกำเนิดของความท้าทายส่วนใหญ่เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม เกิดจากการที่โครงสร้างนั้นสร้างขึ้นจากทรัพยากรที่แยกส่วนกัน (เป็นไซโล) เช่น สตอเรจ เซิร์ฟเวอร์ เวอร์ชวลไลเซชัน ระบบเน็ตเวิร์ก และระบบความปลอดภัย การออกแบบที่แยกส่วนกันนี้ทำให้การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของฐานข้อมูลใหม่ และชุดโครงสร้างหน่วยความจำที่จัดการไฟล์ฐานข้อมูล (Database Instances) ทำได้ยาก

สถาปัตยกรรมฐานข้อมูลที่เป็นไซโลก่อให้เกิดความซับซ้อนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อทีมไอทีที่ขยายการทำงานอย่างยืดหยุ่นไปแล้ว ความซับซ้อนนี้ต้องการการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและทีมต่าง ๆ ที่ดูแลการทำงานของฐานข้อมูลที่ใช้อยู่ จึงทำให้เหลือเวลาเพียงน้อยนิดที่จะสร้างนวัตกรรมที่แท้จริงเพื่อให้สามารถตอบโจทย์การปฏิบัติตามข้อตกลงระดับการให้บริการ (SLAs) ที่เป็นเรื่องยากได้

“ในแต่ละบริษัทต่างมีข้อมูลขนาดเซตตะไบต์ หรือหลายๆเซตตะไบต์ ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาลที่จะต้องจัดการให้ดีที่สุด เนื่องจากข้อมูลที่ Down มีผลต่อองค์กร ทำให้ Transaction หยุดลงและทำงานต่อไม่ได้” สุรักษ์ กล่าว

จากการศึกษาของ IDC ล่าสุดพบว่าองค์กรมากกว่า 77% มี Database 200 Database ในการทำงานหรือการผลิต  82% ของบริษัทมี Database มากกว่า 10 Copies  และ45% ถึง 60% ของความจุของสตอเรจถูกจัดสรรให้ใช้เก็บข้อมูลที่เป็นสำเนา ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นสำเนาสูงถึง 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2563

สุรักษ์  กล่าวว่า Nutanix ได้พัฒนาโซลูชันที่ช่วยให้ลูกค้าทำงานได้เร็วขึ้นและทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างไอทีกับ ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล (DBAs) เรียกว่า Nutanix Era  ซึ่งมีฟังก์ชัน Database as a service  (DBaaS)  ที่มาพร้อมการจัดการฐานข้อมูลด้วยคลิกเดียว ทำให้การบริหารจัดการเวิร์กโหลดทั้งหมดขององค์กรง่ายขึ้นทั้งการจัดเตรียม, Clone, Patch, รีเฟรช และสำรองข้อมูล ช่วยแก้ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดจากความซับซ้อนมากมายของสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ผ่านโครงสร้างพื้นฐานไฮเปอร์คอนเวิร์จ (HCI) และบริการ DBaaS สามารถ Deploy ทั้ง On-Premise Private  Cloud  และ Public Cloud  รองรับ Oracle, SQL Server, MySQL,  PostgreSQL, MariaDB, SAP HANA  และMongoDB

ทวิพงศ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 7 ปีของนูทานิคซ์ในตลาด Cloud มีลูกค้าใช้บริการมากกว่า 6,800 Nodes รวม 92,400 Systems โดยนูทานิคซ์มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งด้านเทคโนโลยี HCI รองรับลูกค้าทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งมีลูกค้าหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งรัฐและเอกชนในการ Transform  ไปดิจิทัล  สำหรับบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ INET ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ได้นำเทคโนโลยี Nutanix HCI เพื่อสร้าง Public  Cloud  บน NUTANIX  โดยมี Node มากกว่า 400 Nodes  ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำ Nutanix HCI ไปพัฒนา Private Cloud ใช้ภายในมหาวิทยาลัย

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 อุตสาหกรรมขนาดเล็กต่างได้รับผลกระทบในวงกว้าง นูทานิคซ์จึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ INET เพื่อสร้าง Local Cloud ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้อุตสาหกรรมสามารถใช้งาน Cloud ผ่าน INET ได้  ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบให้องค์กรขนาดใหญ่เร่งTransform สู่ดิจิทัลมากขึ้น เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม การเงินและธนาคาร เช่าซื้อ ประกันภัย และการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องการ Transform เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมหาศาลและมีข้อมูลผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งโซลูชัน Nutanix HCI ได้ตอบสนองความต้องการของธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจของบริษัทฯ ในปีพ.ศ.2563 และในปีพ.ศ.2564 เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ตลาดอุตสาหกรรมไทย
Logo