วศ.พัฒนานวัตกรรมการพ่นเคลือบสารต้านจุลชีพในรถพยาบาล

ทีมวิจัยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พัฒนาสารต้านจุลชีพจากนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ พร้อมจับมือภาคเอกชนต่อยอดเป็น “รถพยาบาลเคลือบสารต้านจุลชีพ”  ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่และพนักงานขับรถ เผยผ่านการทดสอบยึดติดวัสดุแล้วคงทนต่อการทำความสะอาดตามปกติกว่า100 ครั้ง  

ดร.นพ.ปฐม  สวรรค์ปัญญาเลิศ  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กล่าวว่า   กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีภารกิจสำคัญในการให้บริการทางวิทยาศาสตร์  เพื่อเสริมสร้างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว ยังมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสาขาที่มีความจำเป็นและพัฒนาระบบมาตรฐานให้พร้อมขับเคลื่อนสู่เชิงพาณิชย์  อย่างเช่น  นวัตกรรมการพ่นเคลือบสารต้านจุลชีพในรถพยาบาล ผลงานทีมวิจัยจาก วศ. ซึ่งประกอบด้วย  ดร.จริยาวดี  ศิริจันทรา  ดร.ธนิษฐา ภูลวรรณ  และวรพงษ์ เจนธนกิจ  ร่วมกับบริษัท ที เค ดี ไฟเบอร์ จำกัด (แครี่บอย) พัฒนาขึ้น  เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับทั้งผู้ป่วย พนักงานขับรถยนต์ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19   ปัจจุบันได้มีการผลักดันให้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเรียบร้อยแล้ว  

ดร.จริยาวดี  ศิริจันทรา  ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ  (วศ.) ในฐานะ หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ  กล่าวว่า ทีมวิจัย วศ.มีแนวคิดที่จะพัฒนาวัสดุที่เป็น Smart Material  จึงริเริ่มพัฒนาวัสดุเคลือบผิวอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือสารต้านจุลชีพที่มีส่วนประกอบของนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ขึ้นตั้งแต่ปี 2560  และประสบความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ  ปัจจุบันสารต้านจุลชีพดังกล่าวได้ผ่านการรับรองมาตรฐานประสิทธิภาพจาก NanoQ   หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคมากถึง 99.95% ในแบคทีเรียชนิด Escherichia coli และ Staphylococcus aureus โดย แบคทีเรียทั้งสองเป็นแบคทีเรียมาตรฐานที่ใช้ในการวัดประสิทธิภาพของสารต้านจุลชีพ 

จากความสำเร็จดังกล่าว ได้มีการต่อยอดงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน โดย วศ.ได้มีความร่วมมือกับบริษัทที เค ดี ไฟเบอร์ จำกัด (แครี่บอย)  ในการพัฒนากระบวนการฉีดเคลือบสารต้านจุลชีพบนพื้นผิวภายในรถพยาบาล  รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพในการยึดเกาะบนพื้นผิววัสดุต่างๆ ในรถพยาบาล   เนื่องจากรถพยาบาลมักจะถูกใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากห้องโดยสารรถพยาบาลไม่ได้รับการทำความสะอาดหรือการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม จะทำให้กลายเป็นแหล่งสะสมของจุลชีพ  แต่หากพื้นผิวภายในห้องโดยสารมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และแพร่เชื้อได้   

ดร.จริยาวดี   กล่าวว่า  นวัตกรรมการพ่นเคลือบสารต้านจุลชีพที่พัฒนาขึ้น สามารถพ่นเคลือบได้สม่ำเสมอบนพื้นผิวแต่ละชนิดในทุกชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารของรถพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นเบาะหนัง  พื้นยาง พื้นโลหะ  รวมถึงผนังไฟเบอร์กลาส   เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพในการยึดเกาะบนพื้นผิวของสารต้านจุลชีพ  ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการทดสอบการยึดเกาะบนพื้นผิวต่าง  ๆ   ซึ่งพบว่า แม้จะผ่านการทำความสะอาดด้วยวิธีปกติแล้วถึง 100  ครั้ง สารเคลือบเหล่านี้ก็ยังยึดติดบนพื้นผิวชนิดต่าง ๆ ได้  นวัตกรรมนี้จึงมีประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค ช่วยลดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในระบบส่งต่อผู้ป่วยในรถพยาบาลแล้ว ยังลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในห้องโดยสาร และพนักงานขับรถยนต์ 

ปัจจุบันรถพยาบาลเคลือบสารต้านจุลชีพ จากบริษัท ที เค ดี ไฟเบอร์ จำกัด  ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 – พ.ศ. 2571   นอกจากนี้บริษัท ฯ  ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก วศ. โดยเปิดให้บริการเคลือบสารต้านจุลชีพสำหรับรถประเภทต่าง ๆ อีกด้วย   ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ จะนำนวัตกรรม “รถพยาบาลเคลือบสารต้านจุลชีพ”  ไปจัดแสดงในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2565 หรือ Techno Mart 2022  ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ที่ชั้น G  บริเวณทางเชื่อมระหว่างสยามดิสคัพเวอรี่และสยามเซ็นเตอร์ 

ตลาดอุตสาหกรรมไทย
Logo